ใบกระท่อม จัดเป็นยาเสพติดมานาน แต่ล่าสุดได้รับการปลดล็อกให้ออกจากบัญชียาเสพติด ประเภทที่ 5 ไปเรียบร้อยแล้ว โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 เดือนสิงหาคม 2565 เป็นต้นไป ซึ่งขณะนี้กำลังเข้าสู่ขั้นตอนของการร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม เพื่อควบความรายละเอียดต่าง ๆ ทั้งการปลูกและการจัดจำหน่าย จึงทำให้หลายคนเริ่มสนใจประโยชน์และสรรพคุณทางยาในการช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ของร่างกายได้ มาทำความรู้จักพืชชนิดนี้กัน
กระท่อม พืชที่หลายคนอยากรู้
กระท่อม มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Mitragyna Speciosa (Korth.) Havil.จัดอยู่ในวงศ์เข็ม และกาแฟ เป็นพืชยืนต้น มีความสูงอยู่ที่ประมาณ 4-16 เมตร เติบโตได้เป็นอย่างดีในที่ชุ่มชื้น พื้นดินอุดมสมบูรณ์ ชอบแดดปานกลางใบเดี่ยวสีเขียว เรียงตัวคู่ตรงข้าม ใบกว้าง ดอกสีขาวอมเหลือง มีสารที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทและสมอง ถือเป็นพืชพื้นเมืองของไทย พบในบางจังหวัดของภาคกลาง แต่จะเจอได้มากในเขตป่าธรรมชาติทางภาคใต้ ตั้งแต่สุราษฎร์ธานีลงไปจนถึงมาเลเซีย
ในสมัยโบราณได้นำใบกระท่อมมารักษาอาการติดเชื้อในลำไส้ ลดอาการปวดกล้ามเนื้อ บรรเทาพิษไข้ แก้ไอและท้องร่วงโดยนำใบสดหรือใบแห้งมาเคี้ยว มวนสูบ หรือชงเป็นชา นอกจากนี้ในกลุ่มของแรงงานยังนำมาใช้เพื่อแก้อาการปวดล้ากล้ามเนื้อ ให้ทนต่อการทำงานหนักกลางแจ้งทนร้อนทนแดด ใช้แรงได้ยาวนานมากขึ้น อีกทั้งยังใช้เพื่ออาการจากการขาดสิ่งเสพติดอื่น ๆ เช่น ฝิ่น มอร์ฟีน เป็นต้น เพราะให้ผลข้างเคียงที่น้อยกว่า
ส่วนประเทศไทย พืชกระท่อมมีการใช้อย่างแพร่หลายในกลุ่มนักเรียนและวัยรุ่น โดยใช้น้ำจากใบไปผสมกับยาแก้ไอ ยาคลายกล้ามเนื้อ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มประเภทอื่น ๆ เพื่อแต่งรส เป็นที่รู้จักกันในชื่อ 4 คูณ 100 เพื่อเพิ่มความรู้สึกความสนุกสนาน มึนเมา และอาจจะขาดสติได้หากรับเข้าไปในปริมาณสูง ส่งผลให้มีภาวะกดประสาท หายใจติดขัด ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต หากการกินต่อเนื่องกันเป็นเวลายาวนานก็ทำให้ติดได้เช่นกัน และอาการถอนยาที่พบบ่อย ๆ เช่น หวาดระแวง อารมณ์แปรปรวนรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อ กระดูก แขนกระตุก ไม่หิว สมาธิสั้น นอนไม่หลับ ผิวคล้ำ ผิวแห้ง ปากคล้ำ เป็นต้น
สรรพคุณของใบกระท่อม
ในปี พ.ศ. 2522 กระท่อมถูกจัดให้เป็นยาเสพติด ประเภทที่ 5 ชนิดเดียวกันกับกัญชา ตาม พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ตามมาตรา 7 และถูกปลดล็อกอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2564 ใบกระท่อมเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านในการนำพืชมาใช้รักษาอาการต่าง ๆ ในสมัยที่ยังไม่สามารถเข้าถึงทางการแพทย์ได้ ในปัจจุบันได้มีผลการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับสรรพคุณของพืชกระท่อม ที่สามารถนำไปสกัดเพื่อเป็นยาได้ ดังนี้ แก้อาการท้องเสีย ท้องเฟ้อ มวนท้อง โรคบิด บรรเทาอาการปวดตามกล้ามเนื้อ บดเป็นยาพวกรักษาแผล แก้อาการนอนไม่หลับ ระงับประสาท ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายความวิตกกังวล และความเครียด ช่วยให้มีความรู้สึกกระปรี้กระเปร่า รักษาระดับของพลังงานทำให้ทำงานได้นานขึ้น
ถึงแม้ว่าจะมีประโยชน์แต่ก็ให้โทษเช่นกันหากนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น นำไปต้มเพื่อผสมกับเครื่องดื่มประเภทอื่น ๆ โดยไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นยารักษาอาการต่าง ๆ ในผู้ที่กินใบกระท่อมมากจนเกินไป จะมีผลข้างเคียง เช่น ปากแห้ง รู้สึกเบื่ออาหาร ท้องผูก หนาวสั่น ปัสสาวะบ่อย นอนไม่หลับ คลื่นไส้ อาเจียน เม็ดสีของผิวหนังเข้มขึ้นทำให้หมองคล้ำ ในผู้ที่เสพติดจะมีอาการประสาทหลอน หวาดระแวง เป็นต้น
ถึงแม้ว่าจะมีการปลดล็อกพืชกระท่อม เพื่อให้นำไปใช้ประโยชน์ด้านสุขภาพอย่างเสรีแล้ว แต่ยังมีข้อควรระวังด้านกฎหมายที่ต้องคำนึงถึง โดยเฉพาะการนำไปเป็นสารตั้งต้นกับสิ่งเสพติดชนิดอื่น ๆ แม้แต่การกระทำต่าง ๆ ที่ไม่ได้ใช้เพื่อการรักษา แต่ต้องการเพิ่มความรู้สึกสนุก มึนเมา ล้วนถือว่ายังเป็นสิ่งที่ผิดต่อกฎหมาย ไม่สามารถทำได้
เครดิตภาพ : thairath.co.th / kapook.com / bangkokbiznews.com
YouTube :
พืชกระท่อมมีกี่สายพันธุ์? “ฉบับสมบูรณ์”
ประโยชน์ของพืชกระท่อม
#พืชกระท่อม #ค้ากระท่อมเสรี #ประโยชน์ของพืชกระท่อม